เฉลย ...
กฎหมายตราสามดวง คือ ประมวลกฎหมายในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระองค์ทรงโปรดเกล้าให้มีการชำระกฎหมายเก่า ๆ ที่มีใช้มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยรวบรวมมาเป็นประมวลกฎหมายฉบับใหม่เมื่อปี พ.ศ.2347 และทรงโปรดเกล้าให้เรียกว่าประมวลกฎหมายนี้ว่า กฎหมายตราสามดวง เมื่อจัดทำเสร็จได้เก็บไว้ที่ห้องเครื่องหนึ่งชุด หอหลวงหนึ่งชุด และที่ศาลหลวงอีกหนึ่งชุด
สาเหตุที่เรียกว่ากฎหมายตราสามดวงก็เพราะว่าประมวลกฎหมายฉบับนี้จะถูกประทับตราทั้งหมด 3 ตรา ไว้ทุกเล่ม โดยตราทั้ง 3 ตรานั้น ได้แก่
1. ตราพระราชสีห์ - สำหรับตำแหน่งสมุหนายก
2. ตราพระคชสีห์ - สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม
3. ตราบัวแก้ว - สำหรับตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง (เจ้าพระยาโกษาธิบดี)
กฎหมายตราสามดวง |
สาเหตุทีมีการตรากฎหมายตราสามดวงขึ้นมา ก็เนื่องมาจากแต่เดิมกฎหมายที่มีใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ใช้วิธีการจำกันมาเป็นทอด ๆ บางส่วนก็คัดลอกมาจากตำราที่ยังพอหลงเหลืออยู่ ทำให้การวินิจฉัยคดีความต่าง ๆ ไม่สามารถอ้างอิงหลักกฎหมายอย่างถูกต้องและครบถ้วนได้ ทำให้เกิดความผิดพลาดและขาดความยุติธรรมในการวินิจฉัยคดีความ
ตราทั้ง 3 ตราบนกฎหมายตราสามดวง |
กฎหมายตราสามดวงถูกใช้เป็นกฏหมายหลักของประเทศอยู่เป็นระยะเวลา 103 ปี ตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1 จนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้มีการปฏิรูปกฎหมายครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัยเหมือนกับประเทศที่เจริญแล้ว
เกร็ดความรู้ : กฎหมายตราสามดวงฉบับหลวง 1 ชุด จะเป็นสมุดไทย 41 เล่ม ดังนั้นต้นฉบับ 3 ชุดจึงมีทั้งหมด 123 เล่ม ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 79 เล่ม ถูกเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงยุติธรรม 37 เล่ม และที่หอสมุดแห่งชาติ 41 เล่ม ส่วนอีก 44 เล่มนั้น สูญหายไป