คำถาม ... สัปปุริสธรรม 7 คืออะไร มีอะไรบ้าง?
เฉลย ...
สัปปุริสธรรม 7 คือ ธรรมะของสัตบุรุษ ธรรมะที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ ธรรมะของผู้ดี หรือ คุณสมบัติที่คนดีพึงมี
สำหรับสัปปุริสธรรม 7 นี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี เป็นธรรมะของคนที่น่าเคารพนับถือ น่าบูชา ซึ่งธรรมะที่พึงมีทั้ง 7 ข้อนี้ ประกอบด้วย
1. ธัมมัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักเหตุ
ความเป็นผู้จักเหตุ หมายถึง รู้และเข้าใจหลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล รู้จักวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาและที่มาที่ไปของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
2. อัตถัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักผล
ความเป็นผู้รู้จักผล หมายถึง รู้ความหมาย รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งนี้สิ่งนั้นเป็นผลมาจากอะไร รู้ว่าถ้ากระทำสิ่งเหล่านี้แล้วจะเกิดผลอะไรตามมาบ้าง
3. อัตตัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักตน
ความเป็นผู้รู้จักตน หมายถึง รู้ว่าตัวเองว่ามีสถานภาพเป็นอะไร ฐานะอะไร เพศอะไร กำลังความรู้ความสามารถ ความถนัดและคุณธรรมเป็นเช่นไร เมื่อรู้แล้วจึงปฏิบัตตัวให้เหมาะสม รวมถึงรู้จักปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
4. มัตตัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณ
ความเป็นผู้รู้จักประมาณ หมายถึง ความพอดี หรือ ความพอเพียง พอประมาณ เช่น รู้ว่าควรจ่ายทรัพย์เพื่อการนั้น ๆ เท่าไหร่ถึงจะพอดี ไม่เกินตัว ทำงานแบบไหนถึงจะพอดี ไม่หักโหมเกินไป ไม่เกินกำลังความสามารถที่มี รู้ว่าควรอ่านหนังสือเท่าไหร่ถึงจะสอบได้ ไม่น้อยไปจนสอบตก หรือไม่มากไปจนร่างทรุดโทรม
5. กาลัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักกาล
ความเป็นผู้รู้จักกาล หมายถึง รู้กาลเวลาอันเหมาะสม รู้กาละเทศะ รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร รู้ว่าต้องมาทำงานตรงเวลาแล้วทำตามนั้น ไม่โอ้เอ้จนเสียเวลาทำงาน ไม่เอางานส่วนตัวมาทำในเวลางานส่วนรวม รู้ว่าเวลานี้ต้องกลับบ้าน รู้ว่าเวลานี้ต้องนอน รู้ว่าเวลานี้ต้องกิน รู้ว่าเวลานี้ต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อน
6. ปริสัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักบริษัท
ความเป็นผู้รู้จักบริษัท หมายถึง รู้จักกลุ่มบุคคล รู้จักหมู่คณะ รู้จักชุมชน และที่ชุมนุมชน รู้ว่าควรวางตัวเช่นใด ควรปฎิบัติตัวเช่นใด ควรพูดเช่นไร ควรแสดงความรู้สึกเช่นใด ไม่ทำตัวแปลกแยกจากชุมชน
7. ปุคคลัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักบุคคล
ความเป็นผู้รู้จักบุคคล หมายถึง รู้จักความแตกต่างของบุคคลว่ามีอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรมเป็นเช่นใด รู้จักการปฏิบัติหรือตอบสนองบุคคลที่มีนิสัยที่แตกต่างกัน รู้ว่าผู้ใดควรยกย่อง ผู้ใดควรสั่งสอน และผู้ใดควรตำหนิ
ผู้ที่สมบูรณ์ไปด้วยสัปปุริสธรรม 7 ย่อมเป็นผู้เจริญทั้งทางสติปัญญาและทางไมตรี สามารถอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมได้อย่างเข้าใจมีความสุข มีความสง่างามน่าเคารพ และเป็นที่รักของคนทั่วไป