คำถาม ... การทำแท้งในประเทศไทย ผิดกฎหมายหรือไม่?
เฉลย ...
การทำแท้งในประเทศไทย มีทั้งแบบผิดกฎหมาย และ ไม่ผิดกฎหมาย
การทำแท้งนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันทั่วโลกในแง่ของความจำเป็น ความเหมาะสม และความถูกต้องทางจริยธรรม และยังไม่มีประเทศใดที่อนุญาตให้มีการทำแท้งอย่างเสรีได้ ยกเว้นมีความจำเป็นทางการแพทย์ หรือมีสาเหตุมาจากการล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้นที่ยอมให้มีการทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย
การทำแท้งจะสามารถกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น |
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน การทำแท้งยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่กฎหมายก็เปิดช่องให้มีการทำแท้งได้ในกรณีที่จำเป็น โดยมีกฎหมายอาญาที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 กำหนดความผิดเอาไว้อย่างชัดเจน ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 ได้มีการแก้กฎหมายหมวดนี้โดยรัฐสภา เพื่อปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก โดยกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
แต่เดิมนั้น กฎหมายอาญามาตร 301 บัญญัติไว้ว่า ...
"หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ในกฎหมายอาญามาตรา 301 ฉบับใหม่ ได้บัญญัติไว้ว่า ...
"หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
จะเห็นว่าในกฎหมายเดิมนั้นมีอัตราโทษสูง และไม่มีการกำหนดอายุครรภ์ แต่กฎหมายใหม่นั้นมีโทษน้อยลง และมีโทษเฉพาะอายุครรภ์ที่เกินกว่า 12 สัปดาห์เท่านั้น ดังนั้นจึงสามารถอนุโลมได้ว่า การทำแท้งขณะที่อายุครรภ์ยังไม่ถึง 12 สัปดาห์นั้น สามารถทำได้ (ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด)
นอกจากนี้ยังได้แก้ไขรายละเอียดของกฎหมายอาญามาตร 305 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขการทำแท้งที่ไม่ผิดกฎหมายให้ละเอียดและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนี้
กฎหมายอาญามาตรา 305 เดิม ได้บัญญัติไว้ว่า ...
"กำหนดเหตุยกเว้นความผิดแก่หญิงที่ทำให้ตนแท้ง หรือผู้ที่ทำให้หญิงแท้งโดยหญิงยินยอม จะไม่มีความผิด ถ้าเป็นการกระทำของนายแพทย์ และ
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ
(2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดทางเพศ"
กฎหมายอาญามาตรา 305 ฉบับใหม่ ได้บัญญัติไว้ว่า ...
"ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์ อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ
(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
(5) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น"