คำถาม ... อริยบุคคล แบ่งเป็นกี่ระดับ อะไรบ้าง?
เฉลย ...
อริยบุคคล หมายถึง บุคคลผู้ประเสริฐ ผู้ห่างไกลจากกิเลส ผู้หักกงล้อสังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด)
อริยะบุคคลแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
1. โสดาบัน หมายถึง ผู้เข้าถึงกระแสธรรมแล้ว สามารถละสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์) เบื้องต้นทั้ง 3 ประการได้แล้ว คือ
- สักกายทิฏฐิ คือ ความยึดมั่นถือมั่น ถือความเป็นเจ้าของ ตัวเราของเรา
- วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เช่น สงสัยในข้อปฏิบัติของตนว่าถูกต้องหรือไม่ สงสัยในพระรัตนตรัยหรือสงสัยในอริยสัจ 4 เป็นต้น
- สีลัพพตปรามาส คือ ความเชื่อถือยึดมั่นในศีลที่ไม่ครบถ้วน ยังไม่สามารถรักษาศีลตลอดเวลาได้
2. สกทาคามี หมายถึง สามารถละสังโยชน์ทั้ง 3 ประการของโสดาบันได้แล้ว และยังสามารถทำกิเลสอีก 2 ข้อ ให้ลดน้อยลง กิเลส 2 ข้อนั้น คือ
- กามราคะ หมายถึง ความพอใจในกาม ความเพลินในการได้เสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่าพอใจ
- ปฏิฆะ หมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ สามารถระงับความโกรธและความพยาบาทได้
3. อนาคามี หมายถึง ผู้ที่สามารถละสังโยชน์ทั้ง 5 ข้อของโสดาบันและสกทาคามีซึ่่งเป็นสังโยชน์ขั้นต่ำได้อย่างหมดสิ้น และยังสามารถลดสังโยชน์ขั้นสูงอีก 5 ประการให้ลดน้อยลงด้วย สังโยชน์ขั้นสูงมีดังนี้
- รูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ รูปธรรมอันประณีต หรือ ความพอใจในรูปภพ
- อรูปราคะ หมายถึง ความพอใจในอรูปฌาน หรือ พอใจในอรูปธรรม เช่น ความรู้ หรือ ความพอใจในอรูปภพ
- มานะ หมายถึง ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เอาจิตฝักใฝ่กับการเป็นนั่นเป็นนี่
- อุทธัจจะ หมายถึง ความฟุ้งของจิต ความไม่นิ่งของจิต
- อวิชชา หมายถึง ความไม่รู้แจ้ง ความหลงผิด
อนาคามี สามารถแปลตรงตัวได้ว่า ผู้ไม่มาเกิดอีก หมายความว่าจะไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภพอีก แต่จะเกิดในพรหมโลกอีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะนิพพานจากพรหมโลกนั้นเลย
4. อรหันต์ หมายถึง อริยบุคคลชั้นสูงสุด สามารถละสังโยชน์ได้ครบ 10 ประการ ไม่หลงเหลือกิเลสใด ๆ อีกแล้ว และจะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป
อริยะบุคคล คือผู้ที่อยู่บนหนทางแห่งการละกิเลส ผู้ที่ละกิเลสได้อย่างสมบูรณ์คือพระอรหันต์ |
สภาวะอริยะบุคคลนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ปฏิบัติธรรมทุกคน ไม่จำกัดว่าจะเป็นฆราวาส (ปุถุชนทั่วไป) หรือพระสงค์ นักบวช นักพรต สามเณร แม่ชี ผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่เรามักจะได้เห็น ได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพระอริยสงฆ์มากกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ อันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมรวมถึงสิกขาบทของพระสงฆ์นั้นเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติธรรมมากว่ากลุ่มบุคคลอื่น
การจะบรรลุเป็นอริยบุคคลนั้น ไม่มีทางลัด ไม่มีเส้นสาย ไม่มีการซื้อขาย ใครอยากสำเร็จบนเส้นทางนี้จะต้องปฏิบัติด้วยตัวเองเท่านั้น จะมีผู้ชี้ทางหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ามีผู้ชี้ทางที่ถูกต้อง การเดินบนเส้นทางสายนี้ก็จะราบรื่นขึ้น ไม่ไปผิดทาง แต่ทั้งหมดทั้งปวงจะตั้งอยู่บนพื้นฐานความเพียรของตนเองทั้งสิ้น การบรรลุเป็นอริยบุคคลนั้น เปรียบเสมือนการปฏิบัติจนสมบูรณ์แล้วซึ่งศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติของพุทธศาสนานั่นเอง