โรคที่เกิดจากยุง มีโรคอะไรบ้าง?

คำถาม ... โรคที่เกิดจากยุง มีโรคอะไรบ้าง?

เฉลย...
ยุง (Mosquito) เป็นสัตว์จำพวกแมลงประเภทปากดูดชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อยราว 3,600 สายพันธุ์ พบมากในพื้นที่เขตร้อนชื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเส้นศูนย์สูตร เขตป่าดิบชื้น เขตที่มีฝนตกชุก และเขตที่มีน้ำขังนิ่ง ซึ่งประเทศไทยของเราก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่พบยุงชุกชุมมาก ทั้งในเขตป่าและเขตเมือง นอกจากนี้ยังสามารถพบยุงได้ในแถบหนาว แต่ไม่มากเท่าในเขตร้อนชื้น

ยุงลาย พาหะของไข้เลือดออก


ยุงเป็นสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคร้ายแรงหลายชนิด ทำให้มีคนเสียชีวิตจากยุงมากมายในแต่ละปี ส่วนจะมีโรคอะไรบ้าง เรามาดูกันเลย ...

โรคที่เกิดจากยุง /มียุงเป็นพาหะนำโรค

1. โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever)
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อสู่คนโดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะ ยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฟักตัวเพิ่มจำนวนในยุงและสามารถถ่ายทอดเชื้อให้คนที่ถูกมันกัดได้ โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา ไวรัสเดงกีมีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4 เมื่อเกิดการติดเชื้อมักจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเลือดออกกับอวัยวะภายใน และอาจจะรุนแรงถึงชีวิตได้

2. โรคมาลาเรีย (Malaria) หรือไข้ป่า
โรคมาลาเรีย หรือ ไข้ป่า หรือ ไข้จับสั่น มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงชนิดนี้จะอาศัยในป่าเขา สวนยางพารา และสวนผลไม้ที่ติดต่อกับท้องที่ป่าเขา แถบเชิงเขา ชายป่าที่มีการบุกเบิกทําการเกษตร แอ่งน้ำสะอาด ธารน้ำไหล และน้ำตก เป็นต้น โรคมาลาเรียเกิดจากเชื้อ Plasmodium ซึ่งเป็นสัตว์เซลเดียวอยู่ใน Class Sporozoa มีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและยุง ในประเทศไทยเชื้อที่พบส่วนใหญ่คือ P.vivax ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่แสดงอาการรุนแรง แต่สามารถเป็น ๆ หาย ๆ จากเชื้อที่มีระยะหลบพักในตัว เชื้อมาลาเรียจะมีระยะฟักตัว 10-14 วัน ก่อนจะมีอาการไข้และหนาวสั่น ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อาการจะลุกลาม ซึ่งอาจจะหนักถึงเสียชีวิตได้

3. โรคไวรัสซิกา (Zika)
ไวรัสซิกาเป็นไวรัสซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) จำพวกเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี โดยมียุงลายเป็นพาหะเช่นเดียวกับไวรัสไข้เลือดออกเดงกีและไข้เลือดออกชิคุนกุนย่า อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง และเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก (microcephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ต้องระมัดระวัง อย่าให้ยุงลายกัด เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติได้

4. โรคไข้สมองอักเสบ (West Nile)
ไข้เวสต์ไนล์เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile virus; WNV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในวงศ์ Flaviviridae สกุล Flavivirus พบได้โดยทั่วไปในแอฟริกา เอเชยตะวันตก ตะวันออกกลางและยุโรป แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดในประเทศไทย ซึ่งนอกจากคนแล้ว ไวรัสชนิดนี้ยังสามารถติดต่อไปยังค้างคาว ม้า แมว สุนัข สกั้งค์ กระรอก กระต่าย และจระเข้ได้อีกด้วย อาการของโรคมีตั้งแต่ มีไข้ปวดหัว ปวดตามร่างกาย คลื่นไส้อาเจียน อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นเองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่บางครั้งในผู้สูงอายุอาจแสดงอาการไข้สูง ปวดหัวอย่างรุนแรง คอแข็ง มึนงง ตัวสั่น หมดสติสูญเสียการมองเห็น และเป็นอัมพาตได้

5. โรคไข้เหลือง (Yellow Fever)
โรคไข้เหลืองเป็นการติดเชื้อไวรัสชนิดรุนแรงที่มียุงเป็นพาหะนำโรค ทำให้เกิดอาการ เช่น ตัวเหลืองตาเหลืองหรือดีซ่าน มีไข้สูง และปวดศีรษะ พบได้ในบางบริเวณของทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ ผู้ป่วยมักใช้เวลารักษาตัวประมาณ 3 หรือ 4 วัน จึงจะหายเป็นปกติ โดยผู้ป่วยประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการที่รุนแรง และอาจป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันสำหรับผู้ที่จะเดินทางหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อไวรัสไข้เหลือง

6. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)
โรคชิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อ เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อชิคุนกุนยาไวรัส มีสาเหตุจากยุงลายเช่นเดียวกับไข้เลือดออกและมีอาการเช่นเดียวกับไข้เลือดออก โดยมีระยะฟักตัวของโรค 2-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ผิวหนังจะมีสีแดงร่วมกับมีผื่นแดงเล็กๆ ตามตัว มีอาการปวดตามข้อ และมักมีอาการปวดหลายข้อพร้อมกัน ซึ่งอาการปวดข้อมักจะเป็นอยู่นาน บางรายอาจนานถึง 2 ปี ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะสำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อชิคุนกุนยา ทำได้เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ซึ่งอาการปวดข้อจะสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยมาก

7. โรคไข้สมองอักเสบลาครอส (La Crosse Encephalitis)
โรคไข้สมองอักเสบลาครอส เป็นโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจาก Arbovirus ซึ่งมียุงเป็นพาหะ มีระยะฟักตัวประมาณ 5-15 วัน อาการของโรคมีตั้งแต่งอาการคลื่นไส้ ปวดหัว อาเจียน ชัก  โคม่า  อัมพาตและสมองเสียหาย (ในกรณีที่มีอาการรุนแรง) โรคนี้จะมีอาการไม่รุนแรงมากในคนปกติทั่วไป แต่จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี และผู้สูงอายุ

8. โรคไข้ริฟต์แวลลีย์ (Rift Valley Fever)
โรคไข้ริฟต์แวลลีย์ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Phlebovirus ที่มียุงเป็นพาหะของโรค มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-7 วัน โรคนี้สามารถเกิดได้กับคน แกะ แพะ วัว ควาย และอูฐ อาการที่สังเกตุได้คือ ปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะ ซึ่งอาจมีอาการนานถึงหนึ่งสัปดาห์ ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการสูญเสียความสามารถในการมองเห็นในช่วงสามสัปดาห์แรกหลังจากติดเชื้อ การติดเชื้อที่สมอง ที่อาจก่อให้เกิดการปวดศีรษะอย่างรุนแรง รวมไปถึงอาการเลือดออกที่ตับ ซึ่งเป็นอาการที่อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50%

9. ไวรัสไข้สมองอักเสบม้าเวเนซุเอลา (Jamestown Canyon Virus)
ไวรัสไข้สมองอักเสบม้าเวเนซุเอลา เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งมียุงเป็นพาหะ สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งคนและสัตว์ตระกูลม้า เช่น ม้า ม้าป่า ลา และม้าลาย ผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะอันตรายมากสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ... ชื่อของโรคนี้ได้มาจากการระบาดครั้งใหญ่ในเวเนซูเอลาเมื่อปี พ.ศ. 2538

10. โรค Snowshoe Hare Virus
โรค Snowshoe Hare Virus เกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูล Bunyviridae ซึ่งมียุงเป็นพาหะนำโรค พบในอเมริกา คานาดา และเอเชียตะวันออก (ยังไม่มีรายงานการพบโรคนี้ในประเทศไทย) อาการที่พบคือ มีอาการไข้สูง ปวดหัว อาเจียน และชัก รวมถึงมักพบการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองร่วมด้วย ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ต้องรักษาตามอาการเท่านั้น

โรคที่เกิดจากยุงยังมีอีกเป็นจำนวนมาก แต่ 10 โรคข้างต้นเป็นกลุ่มโรคที่มีความร้ายแรงและอันตรายถึงชีวิต

ยุงก้นปล่อง ต้นเหตุของไข้มาลาเรียหรือไข้ป่า 


ในความเป็นจริงแล้ว ยุงที่ดูดกินเลือดสัตว์อื่นนั้น (รวมถึงมนุษย์) เป็นยุงตัวเมีย ส่วนยุงตัวผู้จะกินแต่น้ำหวานเหมือนแมลงปากดูดทั่วไป (มีส่วนช่วยในการขยายพันธุ์พืชด้วย) โดยที่ตัวยุงเองนั้นเมื่อกัดจะทำให้เกิดความเจ็บปวดเล็กน้อยและสร้างความรำคาญเท่านั้น ไม่ก่อโรคใด ๆ ตัวที่ก่อโรคที่แท้จริงคือเชื้อไวรัส/โปรโตซัวที่อาศัยอยู่ในตัวยุง โดยใช้ยุงเป็นพาหะเพื่อย้ายไปเจริญเติบโตในสัตว์ชนิดอื่น ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าเชื้อไวรัสนั้นมักก่อโรคที่มีอาการรุนแรงและไม่มียารักษา ถ้าร่างกายของโฮสต์ (ร่างที่มันอาศัยอยู่) ไม่สามารถสร้างภูมิต้นทานมากำจัดได้ทัน โฮสต์นั้นก็จะตายลงในที่สุด (เช่นเดียวกับโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้)

ในประเทศไทยของเรามีโรคที่เกิดจากยุงที่พบได้บ่อยอยู่ 2 โรค คือ ไข้เลือดออกซึ่งเกิดจากยุงลาย และไข้มาลาเรียซึ่งเกิดจากยุงก้นปล่อง ในส่วนของยุงลายนั้นเป็นยุงที่หากินในเวลากลางวัน พบได้มากในเขตเมืองหรือเขตชุมชน แหล่งเพาะยุงลายที่สำคัญคือแหล่งน้ำขัง ภาชนะแตกที่มีน้ำขัง แต่แหล่งเพาะยุงที่ใหญ่ที่สุดคือท่อระบายน้ำ ซึ่งในฤดูแล้งจะเกิดน้ำขังนิ่ง เหมาะสมต่อการวางไข่ของยุงลาย ส่วนยุงก้นปล่องนั้นมักพบในพื้นที่ป่า หรือ พื้นที่ที่มีต้นไม้มาก มักหากินเวลากลางคืน แหล่งเพาะเชื้อหลักคือแหล่งน้ำในป่า แต่ปัจจุบันเริ่มพบยุงก้นปล่องในเขตเมืองมากขึ้น เนื่องจากมีท่อระบายน้ำเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นดีนั่นเอง

วงจรชีวิตของยุง การกำจัดลูกน้ำยุงจะเป็นการตัดวงจรนี้ได้


ทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคมาลาเรียที่พบในประเทศไทยเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคทั้งสองนี้เป็นจำนวนมากทุกปี

วิธีป้องกันโรคจากยุง

  • อย่าปล่อยให้ยุงกัด
  • กำจัดลูกน้ำยุงในแหล่งน้ำที่พบทันที
  • ติดมุ้งลวดหรือนอนกางมุ้งทุกครั้ง
  • จุดยากันยุง/ไล่ยุงในบ้าน
  • เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรทายากันยุงทุกครั้ง
  • อย่าปล่อยให้มีแหล่งน้ำขังนิ่งในบ้านและรอบบริเวณบ้าน
  • ติดต่อเทศบาลมาฉีดพ่นยากันยุงตามท่อระบายน้ำเป็นประจำ



อย่าเพิ่งซื้อบ้าน ถ้ายังไม่รู้สิ่งนี้ !!!

ซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง?

คำถาม ... จะซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง? เฉลย ... บ้านคือหนึ่งในปัจจัย 4 ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องการ และในการซื้อบ้านนั้นเป็นการตัดสินใจทางการเงินค...

ความรู้รอบตัว...แนะนำ