คำถาม ... ตำแหน่งทางวิชาการคืออะไร มีกี่ระดับ?
เฉลย ...
ตำแหน่งทางวิชาการ คือ ตำแหน่งของบุคคลในแวดวงวิชาการสำหรับนักวิชาการ อาจารย์ หรือนักวิจัยวิจัย และทำการสอนในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งทางวิชาการเป็นตำแหน่งที่แสดงถึงความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสูง มีคุณธรรม และมีจรรยาบรรณในการสอน การวิจัย และวิชาการ
การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการพิจารณาจากคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ความรู้ ความสามารถด้านการสอน ผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ ที่มีปริมาณและคุณภาพที่แสดงถึงความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น ๆ
ตำแหน่งทางวิชาการของประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. ผู้ช่วยศาสตรจารย์ (ผศ.)
ผู้ช่วยศาสตรจารย์เป็นตำแหน่งทางวิชาการในระดับต้น ผู้ที่สามารถยื่นขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตรจารย์ได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่ทำการสอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา มีผลงานทางวิชาการ ได้แก่ งานวิจัย และบทความทางวิชาการ และผ่านการประเมินจากคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
2. รองศาสตรจารย์ (รศ.)
รองศาสตรจารย์เป็นตำแหน่งทางวิชาการในระดับกลาง ผู้ที่สามารถยื่นขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตรจารย์ได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่ทำการสอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งที่กำหนดในหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา มีผลงานทางวิชาการ ได้แก่ งานวิจัย และมีตำราหรือหนังสือ และผ่านการประเมินคุณภาพโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นๆ
3. ศาสตราจารย์ (ศ.)
ศาสตรจารย์เป็นตำแหน่งทางวิชาการในระดับสูงสุดของประเทศไทย เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในศิลปะวิทยาการเฉพาะด้านหรือเป็นผู้สอนที่มีความชำนาญระดับสูง มีผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพดีมากหรือดีเด่น มีงานวิจัย มีตำราหรือหนังสือที่ผ่านการประเมินคุณภาพ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ที่ใช้ชื่อแตกต่างออกไปอีกหลายแขนง เพื่อยกย่องเชิดชูผู้ที่มีผลงานทางวิชาการที่ยอดเยี่ยม เช่น
- ศาสตราจารย์คลินิก สำหรับผู้ที่มีผลงานยอดเยี่ยมทางด้านการแพทย์
- ศาสตราจารย์กิตติคุณ สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์อยู่ก่อนแล้ว แต่เกษียณอายุ และยังสร้างคุณประโยชน์ทางวิชาการได้อย่างต่อเนื่อง
- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์อยู่ก่อนแล้ว แต่เกษียณอายุ และยังสร้างคุณประโยชน์ทางวิชาการได้อย่างต่อเนื่อง
- ศาสตราจารย์พิเศษ สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำ แต่มีผลงานทางวิชาการที่โดดเด่น และมีความรู้ความสามารถในแขนงนั้น ๆ อย่างสูง
- ศาสตราภิชาน ตำแหน่งยกย่องผู้ที่มีความรู้ลึกซึ้งในศาสตร์ต่างๆ และเป็นตำแหน่งเฉพาะสาขาวิชาที่ให้เป็นเกียรติตลอดชีพ
- ศาสตราจารย์กิตติเมธี เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาเชิญมาทำวิจัยและพัฒนาศาสตร์ในสาขานั้น เป็นตำแหน่งที่มีกำหนดเวลาหรือค่าตอบแทนจากกองทุนของสถาบัน
- ศาสตราเมธาจารย์ เป็นการยกย่องศาสตราจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำ เป็นผู้นำทางวิชาการของสาขาวิชานั้นๆ ในระดับนานาชาติจนเป็นที่ประจักษ์
- ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ประจำผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษ และมีผลงานดีเด่นระดับนานาชาติ
- ศาสตราจารย์อาคันตุกะ เป็นตำแหน่งทางวิชาการสำหรับชาวต่างประเทศที่ได้รับเชิญให้มาช่วยเหลืองานด้านการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย
- ศาสตราจารย์เกียรติยศ เป็นการยกย่องเชิดชูผู้มีความรู้ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ
ตำแหน่งทางวิชาการ จะมอบให้กับผู้ที่โดดเด่นทั้งด้านการสอน การวิจัย การสร้างผลงานทางวิชาการ และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญโดดเด่นในสาขาวิชานั้น ๆ |
ตำแหน่งทางวิชาการเป็นการกำหนดมาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการ และได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษา โดยผู้ที่มีตำแหน่งทางวิชาการนั้น มีสิทธิใช้ตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับเป็นคำนำหน้านามได้ในการลงชื่อ หนังสือ เอกสาร งานสารบรรณหรือการเรียกขานใด ๆ เสมือนยศหรือคำนำหน้านามอย่างอื่น