คำถาม ... อริยสงฆ์ กับ สมมุติสงฆ์ แตกต่างกันอย่างไร?
เฉลย ...
พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. สมมุติสงฆ์
สมมุติสงฆ์ หรือ สมมติสงฆ์ หมายถึง พระสงฆ์โดยทั่วไป พระสงฆ์ที่ได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัยอย่างครบถ้วนแล้ว แต่เป็นพระสงฆ์ที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรมชั้นใดชั้นหนึ่ง อันมีอยู่ 4 ชั้นได้ ธรรมทั้ง 4 ชั้นคือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ พระสงฆ์ที่สามารถบรรลุธรรมชั้นใดชั้นหนึ่งข้างต้นได้จะเรียกว่า พระอริยสงฆ์
2. อริยสงฆ์
พระอริยสงฆ์ หมายถึง พระสงฆ์ผู้ประเสริฐ พระสงฆ์ผู้ไกลจากข้าศึก พระสงฆ์ผู้หักกำล้อสังสารวัฏได้แล้ว พระอริยสงฆ์สามารถออกได้เป็น 4 ประเภทคือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ดังนั้นพระอริยสงฆ์จึงหมายถึง พระสงฆ์ซึ่งสำเร็จธรรมตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไปนั่นเอง
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนากรรมฐาน |
พระอริยสงฆ์ทั้ง 4 ประเภท มีความแตกต่างกันดังนี้
1. พระโสดาบัน
พระโสดาบัน หมายถึง ผู้เข้าถึงกระแสธรรม ผู้แรกถึงกระแสธรรม ผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วจะสามารถละ สังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ประการได้คือ
- สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน เช่นเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวตนของเรา
- วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เช่นสงสัยในข้อปฏิบัติของตนว่าถูกต้องหรือไม่ สงสัยในพระรัตนตรัยหรือในอริยสัจ 4 ว่ามีจริงหรือไม่
- สีลัพพตปรามาส คือ ความเชื่อถือยึดมั่นว่าความศักดิ์สิทธิ์มีได้ด้วยศีลและพรตอย่างนั้นอย่างนี้ ข้อนี้ขยายความได้ว่ารักษาศีลแต่เพียงทางกาย ทางวาจา แต่ใจยังไม่เป็นศีล หรืออย่างน้อยก็ยังไม่เป็นศีลตลอดเวลา
พระสกทาคามี แปลว่า ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว หมายถึง จะกลับมาเกิดอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็จะถึงพระนิพพาน ผู้บรรลุธรรมชั้นสกทาคามีจะสามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ประการได้เช่นเดียวกับพระโสดาบัน และยังสามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำอีก 2 ประการได้บางส่วน ได้แก่
- กามราคะ หมายถึง ความพอใจในกาม คือ การความเพลินในการได้เสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่าพอใจ
- ปฏิฆะ หมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ คล้ายความพยาบาทอย่างละเอียด
พระอนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มาเกิดอีก หมายถึงไม่กลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีกแล้ว แต่จะเกิดในพรหมโลกอีกเพียงครั้งเดียวก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่ชั้นพรหมโลกนั้นเลย พระอนาคามีนั้นเป็นผู้ที่สามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง 5 ข้อของโสดาบันและสกทาคามีได้สมบูรณ์ แต่จะยังละสังโยชน์ชั้นสูง 5 ประการได้ไม่หมด ซึ่งได้แก่
- รูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ รูปธรรมอันประณีต หรือ ความพอใจในรูปภพ
- อรูปราคะ หมายถึง ความพอใจในอรูปฌาน หรือ พอใจในอรูปธรรม เช่น ความรู้ เป็นต้น หรือ ความพอใจในอรูปภพ
- มานะ หมายถึง ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นพระอนาคามี (แม้ว่าจะเป็นจริงๆ) เป็นต้น
- อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งของจิต
- อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง
พระอรหันต์ หมายถึง ผู้ที่บรรลุธรรมขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้ โดยสามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำและเบื้องสูงทั้ง 10 ประการได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีกิเลสใด ๆ หลงเหลืออีกต่อไป และจะไม่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป