เงินบาทอ่อน-แข็ง มีผลดีและผลเสียอย่างไร?

คำถาม ... เงินบาทอ่อน-แข็ง มีผลดีและผลเสียอย่างไร?

เฉลย ...

ประเทศไทยของเราใช้ระบบเงินหรือระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ซึ่งหมายถึงค่าเงินจะไม่มีค่าคงตัว แต่จะแปรผันขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ ตามเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าออกประเทศไทย รวมถึงความต้องการใช้เงินบาทในช่วงเวลานั้น ๆ ด้วย ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่าค่าเงินบาทนั้นจะขึ้นลง หรือ อ่อนค่าแข็งค่าตามหลัก Demand - Supply นั่นเอง



ค่าเงินแข็งค่า / อ่อนค่า คืออะไร

เนื่องจากบ้านเราใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนไม่จำเป็นต้องเท่าเดิมเสมอไป อาจจะแข็งค่าขึ้น (แพงขึ้น) หรืออาจจะอ่อนค่าลง (ถูกลง) ก็ได้ ตัวอย่างเช่น 

ค่าเงินบาทแข็งขึ้น หมายถึง เงินบาทมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เช่น หากเมื่อวานนี้ใช้เงิน 35 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนถูกปรับเป็น 34 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นแบบนี้จะเรียกเงินบาทมีค่ามากขึ้นหรือแพงขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หรือเรียกว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐก็ได้

ในทางกลับกัน ค่าเงินบาทอ่อนลง ก็จะมีลักษณะตรงข้าม กล่าวคือเงินบาทมีค่าน้อยลงหรือถูกลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เช่น เมื่อวานใช้เงิน 34 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนถูกปรับเป็น 35 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ สภาวะการณ์นี้เรียกว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ


สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินแข็งค่าหรืออ่อนค่า

ในปัจจุบัน ค่าเงินแต่ละสกุลมีลักษณะเหมือนสินค้าและบริการที่มีการราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด หรือตามหลัก Demand - Supply เช่น กรณีเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หากมีความต้องการซื้อเงินบาทมากขึ้น โดยเอาเงินดอลลาร์สหรัฐมาขาย (หรือเอามาซื้อเงินบาท) เงินบาทก็จะแพงขึ้น (หรือแข็งค่าขึ้น) แต่ในทางกลับกันหากมีความต้องการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น โดยเอาเงินบาทมาขาย (หรือเอามาซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ) เงินบาทก็จะถูกลง หรืออ่อนค่าลง


ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้ค่าเงินแข็งค่าหรืออ่อนค่า

ในกรณีที่ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น รวมถึงมีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น เงินตราต่างประเทศก็จะไหลเข้าประเทศไทยมากขึ้น และเมื่อจะใช้ ก็ต้องนำเงินตราต่างประเทศเหล่านั้นมาแลกหรือซื้อเงินบาท ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นหรือแพงขึ้น

ในกรณีที่ประเทศไทยนำเข้าสินค้ามากขึ้น หรือสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น (เช่นน้ำมัน) คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้เงินตราต่างประเทศมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะต้องใช้เงินบาทมาซื้อเงินสกุลต่างประเทศ ทำให้เงินสกุลต่างประเทศแข็งค่าขึ้นและเงินบาทอ่อนค่าลงหรือถูกลง


เงินบาทแข็งค่า-อ่อนค่า ใครได้ใครเสีย

กรณีเงินบาทแข็งค่า
ผู้ได้ประโยชน์
- ผู้นำเข้า เนื่องจากจ่ายเงินบาทน้อยลง แต่ได้สินค้าเท่าเดิม
- ผู้ผลิต สามารถนำเข้าวัตุดิบและเครื่องจักรได้ในราคาที่ถูกลง
- ผู้ที่เป็นหนี้ต่างประเทศ จะชำระหนี้ลดลง เมื่อคิดเป็นเงินบาท
- นำมันราคาถูกลง ผู้ใช้น้ำมันได้ประโยชน์ ต้นทุนการขนส่งลดลง
- นักท่องเที่ยว สามารถเดินทางไปต่างประเทศโดยมีค่าใช้จ่ายต่ำลง
- นักศึกษาที่ไปเรียนต่างประเทศ มีต้นทุนต่ำลง

ผู้เสียประโยชน์
- ผู้ส่งสินค้าออก สินค้าขายได้เท่าเดิม แต่จะแลกเป็นเงินบาทได้ลดลง
- ผู้ประกอบการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวในประเทศไทยจะมีราคาแพงขึ้นในสายตานักท่องเที่ยว
- ผู้รับรายได้เป็นเงินต่างประเทศ จะมีรายได้ลดลงเมื่อแลกเป็นเงินบาท


กรณีเงินบาทอ่อนค่า
ผู้ได้ประโยชน์
- ผู้ส่งออก ส่งสินค้าออกเท่าเดิม แต่ได้เงินบาทเพิ่มขึ้น
- ผู้รับเงินรายได้จากต่างประเทศ จะแลกเปป็นเงินบาทได้มากขึ้น
- ผู้ประกอบการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวในประเทศไทย จะมีราคาถูกลงในสายตานักท่องเที่ยว


ผู้เสียประโยชน์
- ผู้นำเข้าสินค้า ราคาสินค้าเท่าเดิม แต่ต้องใช้เงินบาทมากขึ้น
- ผู้ผลิต ต้องนำเข้าวัตุดิบและเครื่องจักรได้ในราคาที่แพงขึ้น
- ผู้ที่เป็นหนี้ต่างประเทศ จะชำระหนี้มากขึ้น เมื่อคิดเป็นเงินบาท
- ราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนการขนส่งเพิ่ม สินค้าจะมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย
- นักท่องเที่ยว สามารถเดินทางไปต่างประเทศโดยมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
- นักศึกษาที่ไปเรียนต่างประเทศ มีต้นทุนสูงขึ้น


กล่าวโดยสรุปได้ว่า เงินบาทของไทยจะมีค่าขึ้นลงตามความต้องการของตลาด ซึ่งไม่สามารถกำหนดค่าตายตัวได้ แต่สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องดูแลคือ การที่ไม่ให้ค่าเงินบาทแกว่งตัวมากเกินไป หรือแข็งค่าอ่อนค่ารวดเร็วเกินไปจนกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมและค่าครองชีพของประชาชนภายในประเทศ



อย่าเพิ่งซื้อบ้าน ถ้ายังไม่รู้สิ่งนี้ !!!

ซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง?

คำถาม ... จะซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง? เฉลย ... บ้านคือหนึ่งในปัจจัย 4 ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องการ และในการซื้อบ้านนั้นเป็นการตัดสินใจทางการเงินค...

ความรู้รอบตัว...แนะนำ