คำถาม ... สะพานมิตรภาพไทย-ลาว มีกี่แห่ง อยู่ที่ไหนบ้าง?
เฉลย ...
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว มี 8 แห่ง
สะพานมิตรภาพไทย-ลาวทั้ง 8 แห่ง มีดังนี้
1. สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 - เชื่อมต่อจังหวัดหนองคายกับนครหลวงเวียงจันทน์
2. สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 2 - เชื่อมต่อจังหวัดมุกดาหารกับแแขวงสะหวันนะเขต
3. สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 3 - เชื่อมต่อจังหวัดนครพนมกับแขวงคำม่วน
4. สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 4 - เชื่อมต่อจังหวัดเชียงรายกับแขวงบ่อแก้ว
5. โครงการสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5 - เชื่อมต่อจังหวัดบึงกาฬกับแขวงบอลิคำไซ
6. โครงการสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 6 - เชื่อมต่อจังหวัดอุบลราชธานีกับแขวงสาละวัน
7. โครงการสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 7 - เชื่อมต่อจังหวัดเลยกับนครหลวงเวียงจันทน์
8. โครงการสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 8 - เชื่อมต่อจังหวัดอุบลราชธานีกับแขวงจำปาศักดิ์
|
ภาพสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 |
รายละเอียดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแต่ละแห่ง มีดังต่อไปนี้
1. สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1
เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงชนิดคอนกรีตเสริมเหล็กแบบ Box Girder ขนาด 2 ช่องจราจร และมีทางรถไฟขนาดกว้าง 1 เมตรอยู่ตรงกลาง เชื่อมต่อหมู่ที่ 1 บ้านคุ้มจอมมณี ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคายของประเทศไทย เข้ากับบ้านท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ ของ สปป.ลาว ตัวสะพานมีความยาวทั้งสิ้น 1,174 เมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลออสเตรเลีย
สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 ใช้ระยะในการก่อสร้าง 2 ปีเศษ คือระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 สะพานแห่งนี้ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2537 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศของ สปป.ลาว
|
ป้ายจารึกสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 |
2. สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 2
เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงชนิดคอนกรีตอัดแรง ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาวเข้าด้วยกัน โดยฝั่งไทยอยู่ในพื้นที่ของหมู่ที่ 9 บ้านสงเปือย ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ส่วนฝั่งลาวอยู่ในพื้นที่ของบ้านนาแก เมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสุวรรณเขต (สะหวันนะเขต) เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความยาวทั้งหมด 1,600 เมตร กว้าง 12 เมตร และมี 2 ช่องจราจร
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (Second Thai–Lao Friendship Bridge) ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี คือในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 ถึง เดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับความช่วยเหลือเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านธนาคารพัฒนาเอเชีย ทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว
|
ภาพสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 |
3. สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 3
เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงชนิดคอนกรีตอัดแรง ที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่ที่ 1 บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม กับ บ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว มีความยาวรวม 1,423 เมตร กว้าง 13 เมตร และมี 2 ช่องจราจร
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (3rd Thai–Lao Friendship Bridge) เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดอัดแรง ก่อสร้างโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,723 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเองทั้งหมด ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีเศษ คือระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552 ณ บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม และได้ทรงเสด็จเป็นประธานพิธีเปิดอย่างเป็นทางการร่วมกับนายบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
|
ภาพสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 |
4. สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 4
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (4th Thai–Lao Friendship Bridge) เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดอัดแรงแบบ Box Girder เชื่อมระหว่างหมู่ที่ 9 บ้านดอนมหาวัน ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของประเทศไทย กับ บ้านดอน เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตัวสะพานรวมถนนเชื่อมต่อมีความยาว 2.48 กิโลเมตร กว้าง 14.70 เมตร และมี 2 ช่องจราจร โดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ 1,624 ล้านบาท
สะพานแห่งนี้ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปีเศษ คือระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 ถึง เดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 และเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ร่วมกับนายบุนยัง วอละจิต รองประธานประเทศลาว เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556
|
ภาพสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 |
ในส่วนของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5-8 นั้น การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งทางเราจะนำรายละเอียดมานำเสนอในโอกาสต่อไป...
ข้อมูลเพิ่มเติม
- สะพานมิตรภาพที่เปิดใช้งานแล้วมี 4 แห่ง คือ สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1-4
- สะพานที่กำลังก่อสร้าง 1 แห่ง คือ สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5
- สะพานที่กำลังจะเริ่มก่อสร้าง 1 แห่ง คือ สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 6 (เริ่มสร้างปี 2566)
- สะพานที่อนุมัติโครงการแล้วอีก 2 แห่ง คือ สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 7-8
นอกจากนี้ยังมีสะพานมิตรภาพอีก 1 แห่ง ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการนี้ คือ สะพานมิตรภาพน้ำเหือง ไทย-ลาว ซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมต่อจังหวัดเลยเข้ากับแขวงไชยบุรีของ สปป.ลาว