คำถาม ... กลิ่นปาก เกิดจากอะไร?
เฉลย ...
กลิ่นปาก (Bad breath) คือ หนึ่งในสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพจิตและทำลายบุคคลิกภาพที่ร้ายแรงมาก สำหรับคนที่รู้ตัวว่ามีกลิ่นปากก็มักจะไม่ค่อยกล้าพบใคร ไม่กล้าเข้าสังคม กลายเป็นคนเก็บตัวและเก็บกด ส่วนคนที่มีกลิ่นปากแบบไม่รู้ตัวนั้นยิ่งจะทำให้เสียบุคคลิกภาพหนักเข้าไปอีก ไม่มีใครอยากพูดคุยด้วย แค่จะเข้าใกล้ก็ยังระแวง ดังนั้นการมีกลิ่นปากนั้นสามารถทำลายสิ่งดี ๆ หลายอย่างในชีวิตได้เลย
กลิ่นปาก ส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าที่คิด |
กลิ่นปาก เกิดจากอะไร?
1. การรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรงอยู่เสมอ เช่น ทุเรียน ขนุน เนย กระเทียม หัวหอม และถั่วชนิดต่างๆ
2. มีปัญหาสุขภาพหงือก เช่น เหงือกอักเสบ
3. แปรงฟันไม่ถูกวิธี หรือ การทำความสะอาดช่องปากไม่ดีพอ ทำให้กำจัดเศษอาหารออกไม่หมด
4. กินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไป เพราะเมื่อร่างกายได้รับแป้งไม่เพียงพอ ร่างกายจึงหันไปใช้ไขมันในการสร้างพลังงานแทน ซึ่งส่งผลทำให้มีกลิ่นปากได้มากกว่าปกติ
5. สูบบุหรี่เป็นประจำ การสูบบุหรี่ทำให้มีกลิ่นบุหรี่ตกค้างในปาก รวมถึงมีคราบบนฟัน และจะมีปัญหาเหงือกตามมาอีกด้วย
6. ดื่มเหล้าเป็นประจำ การดื่มเหล้าต่อเนื่องจะทำให้มีกลิ่นเหล้าออกมากับลมหายใจ ซึ่งเป็นกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์อย่างมาก
7. เป็นโรคบางชนิดอันเนื่องมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไซนัส เนื่องจากเชื้อโรคสามารถเคลื่อนที่มายังปากและลำคอ ส่งผลให้เกิดการย่อยเศษอาหารในปาก และทำให้มีกลิ่นปากที่รุนแรงได้
8. ต่อมน้ำลายทำงานผิดปกติ เช่นผลิตน้ำลายได้น้อยกว่าปกติ ทำให้เกิดสภาพกรดในปาก ส่งให้เกิดกลิ่นเหม็นเปรี้ยว อีกทั้งมีน้ำลายน้อย ทำให้ขาดน้ำลายในการชะล้างแบคทีเรียในปากอีกด้วย
9. เป็นโรคกรดไหลย้อนและโรคกระเพาะ เนื่องจากเป็นโรคที่เกี่ยวกับการมีกรดในระบบย่อยอาหารสูงเกินไป ทำให้มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวออกมาทางช่องปาก
10. เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากในคนที่เป็นโรคเบาหวานนั้น ร่างกายจะเผาผลาญน้ำตาลได้น้อย ร่างกายจะได้รับพลังงานไม่พอ ดังนั้นร่างกายจึงหันไปเผาผลาญไขมันแทน ซึ่งสามารถสร้างกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้มากกว่าการเผาผลาญน้ำตาล
จะเห็นว่าการมีกลิ่นปากนั้นสามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เมื่อมีกลิ่นปากเราต้องหันมาพิจารณาว่าตัวเรามีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้กล่าวมาหรือไม่ ถ้ามีก็แก้ไขจุดนั้น อาการปากเหม็นก็จะหายไป แต่ถ้าเราไม่มีพฤติกรรมแบบนั้น แต่กลับมากลิ่นปากที่รุนแรง ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป