คำถาม... ยุทธหัตถี เกิดขึ้นที่ใด?
เฉลย ... สงครามยุทธหัตถีเกิดขึ้นที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
สงครามยุทธหัตถีในที่นี้ เราจะหมายถึง การทำยุทธหัตถี หรือ สงครามชนช้าง ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระมหาอุปราชา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันแรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 ซึ่งตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135
สงครามในครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงช้างศึกชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพ และสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงช้างชื่อเจ้าพระยาปราบไตรจักร เข้าทำการรบ ซึ่งในขณะเข้าทำการรบนั้น ช้างทรงทั้งสองเกิดตกมัน ทำให้ถลำเข้าไปในวงล้อมของทัพสมเด็จพระมหาอุปราชา สมเด็จพระนเรศวรจึงต้องแก้สถานการณ์โดยทรงท้าสมเด็จพระมหาอุปราชากระทำยุทธหัตถี ซึ่งถือว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรีสูงสุดสำหรับกษัตริย์นักรบ และในการรบครั้งนี้สมเด็จพระมหาอุปราชาได้ใช้พระแสงของ้าวฟันเข้าที่พระมาลาหนัง (หมวกหนัง) ของสมเด็จพระนเรศวรจนขาด ต่อมาเจ้าพระยาไชยานุภาพได้พุ่งเข้าชนช้างทรงของสมเด็จพระมหาอุปราชาจนเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรจึงได้จังหวะ ใช้พระแสงของ้าวฟันถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา (ไหล่ขวา) จนสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง
จากชัยชนะในการรบครั้งนี้ ทำให้ทัพพม่าแตกพ่าย และไม่กลับมารุกรานไทยนานเกือบ 200 ปี
ภาพวาดจำลองการทำยุทธหัตถี |
หมายเหตุ
คำว่า ยุทธหัตถี หมายถึง การชนช้าง หรือ การทำสงครามบนหลังช้างตามประเพณีโบราณของกษัตริย์ในภูมิภาคสุวรรณภูมิ เป็นการทำสงครามซึ่งถือว่ามีเกียรติยศสูง เพราะช้างถือเป็นสัตว์ใหญ่ เป็นพาหนะทรงของกษัตริย์ และเป็นการปะทะกันซึ่ง ๆ หน้า ผู้แพ้อาจถึงแก่ชีวิตได้
ในประวัติศาสตร์ของไทยนั้น การกระทำยุทธหัตถีนั้นเกิดขึ้น 4 ครั้ง ได้แก่
1. ยุทธหัตถีระหว่างพ่อขุนรามคำแหงมหาราชกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พ่อขุนรามคำแหงทรงได้รับชนะ
2. ยุทธหัตถีที่สะพานป่าถ่าน ระหว่างเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา เพื่อชิงราชสมบัติ ปรากฏว่าสิ้นพระชนม์ทั้งคู่
3. ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระสุริโยทัยกับพระเจ้าแปร ในปี พ.ศ. 2091 ที่ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการรบคร้งนี้สมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
4. ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชามังสามเกียด ในปี พ.ศ. 2135 ที่ทุ่งมะขามหย่อง อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ชัยชนะ