คำถาม ... กินเค็มมากจะเป็นโรคไต ... จริงหรือไม่?
คำตอบ ... จริง
คำว่ากินเค็มมากเกินไป ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือการบริโภคอาหารที่มีเกลือมากเกินไปนั่นเอง เกลือที่เราบริโภคโดยทั่วไปมีชื่อทางเคมีว่าโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride) ซึ่งเจ้าโซเดียมนี่แหละ คือตัวการสำคัญที่ทำให้ระบบการทำงานของไตผิดปกติ
โซเดียมในเกลือ ตัวร้ายทำลายไต (ถ้ากินมากเกินไป) |
โซเดียมเป็นหนึ่งในเกลือแร่สําคัญที่ร่างกายต้องการ โดยโซเดียมจะทําหน้าที่ควบคุมสมดุลของเกลือแร่ การกระจายตัวของน้ำในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ควบคุมสมดุลของกรด-ด่าง ควบคุมการเต้นของหัวใจและชีพจร มีผลต่อความดันโลหิตและการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปร่างกายของเราได้รับโซเดียมจากอาหาร ซึ่งมักอยู่ในรูปของเกลือโซเดียมคลอไรด์อย่างที่กล่าวมาแล้ว เกลือโซเดียมคลอไรด์นี้ทำให้อาหารมีรสเค็ม โดยที่เรามักใช้เพื่อปรุงรสหรือถนอมอาหาร เช่น เกลือป่น น้ำปลา กะปิ ซีอิ้ว และเต้าเจี้ยว เป็นต้น นอกจากนี้เจ้าโซเดียมยังแฝงอยู่ในอาหารรูปแบบอื่นแต่ไม่มีรสชาติเค็ม เช่น ผงชูรส และผงฟู รวมไปถึงอาหารแปรรูปที่ต้องใช้วัตถุกันเสียด้วย เช่น ไส้กรอก แฮม และเบคอน เป็นต้น
สารกันบูดในอาหารแปรรูป มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบสำคัญ |
การรับประทานโซเดียมมากเกินไป (ซึ่งคนไทยโดยเฉลี่ยจะรับประทานโซเดียมสูงมากกว่าค่ามาตรฐานประมาณ 2 เท่า) จะทำสมดุลของน้ำเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจต้องทำงานหนัก และไตต้องงานมากกว่าปกติด้วย ซึ่งในระยะยาวสามารถทำให้เกิดโรคไตและอาการไตวายได้
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่า ถึงแม้ว่าร่างเราจะต้องการธาตุโซเดียม ซึ่งก็มักจะได้รับอย่างเพียงพออยู่แล้วในอาหารที่รับประทานตามปกติ แต่การได้รับโซเดียมมากเกินไปก็ส่งผลเสียมากมายเช่นกัน ดังนั้นควรรับประทานอาหารรสจัดหรือรสเค็มจัดให้น้อยลง ลดอาหารจำพวกมันฝรั่งทอดใส่ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารแปรรูปที่ผ่านกระบวนการใส่สารกันบูด รวมถึงอาหารที่ต้องใช้ผงฟู ให้น้อยลง ก็จะลดความเสี่ยงต่อการได้รับปริมาณโซเดียมในปริมาณที่สูงเกินไปได้