นโยบายแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาทให้กับประชาชนคนไทยเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่สุดของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชน แน่นอนว่ายังมีคำถาม ข้อสงสัย และข้อกังวลมากมายเกี่ยวกับนโยบายนี้ ดังนั้นเรามาดูกันว่าเงินดิจิตอล 10,000 บาทนี้ จะได้เมื่อไหร่ มีเงื่อนไขการรับและการใช้อย่างไรบ้าง
เงื่อนไขการรับเงิน
- คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ประมาณ 50 ล้านคน
- ต้องมีโทรศัพท์สมาร์ตโฟน
- โทรศัพท์ต้องมีอินเตอร์เน็ต
- เงินจะโอนเข้าบัญชีอัตโนมัติตามหมายเลขบัตรประชาชน
เงื่อนไขการใช้เงิน
- ใช้ผ่านแอปตัวใหม่ที่จะพัฒนาขึ้น
- ใช้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ
- ใช้ในรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ในบัตรประชาชน
- ใช้ซื้อสินค้าได้ทุกชนิด ยกเว้นของผิดกฎหมายและอบายมุข
- มีระยะเวลาการใช้งาน 6 เดือนนับจากวันรับเงิน
จะได้เงินเมื่อไหร่?
หลายคนน่าจะอยากรู้ว่าจะได้เงินเมื่อไหร่ คำตอบที่มีออกมาตอนนี้คือ เงินดิจิตอล 10,000 บาทนี้จะถูกโอนเข้าบัญชี Digital Wallet บน Blockchain ของแต่ละคนประมาณกลางปี 2567 แต่มีคำพูดออกมาจากเจ้าของนโยบายว่าจะพยายามให้ทันก่อนสงกรานต์
ที่มาของเงิน
โครงการนี้ต้องใช้เงินประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งพรรคเพื่อไทยระบุว่าที่มาของเงินนั้นมาจากหลายแหล่ง โดยไม่กระทบกับงบประมาณปกติ เช่น การตัดงบที่ไม่จำเป็นในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ รวมถึงรายรับจากการเก็บภาษีที่มากขึ้น
ข้อกังวล/สงสัย
โครงการแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาทนี้ หลายฝ่ายกังวลเรื่องเงินเฟ้อ เนื่องมาจากการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ จะทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นมาได้ ซึ่งหมายถึงการที่สินค้าและบริการขึ้นราคานั่นเอง การขึ้นราคานี้มักขึ้นถาวร แม้เงิน 10,000 บาทนั้นจะหมดแล้วก็ตาม จะทำให้ประชาชนลำบากมากขึ้นในระยะยาว
อีกความกังวลคือเรื่องการกำหนดให้ใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ในบัตรประชาชน ซึ่งในบางพื้นที่เป็นทุ่งนาป่าเขา ในระยะ 4 กิโลเมตรอาจจะไม่ร้านค้าที่ขายสินค้าที่ต้องการ รวมถึงคนที่จำเป็นต้องทำงานไกลบ้าน (ซึ่งมีคนไทยหลายล้านคนทำงานนอกภูมิลำเนา) แล้วไม่มีโอกาสได้กลับภูมิลำเนา คนกลุ่มนี้จะไม่มีสิทธิ์ได้ใช้เงิน 10,000 บาทนี้เลย เพราะจุดที่ทำงานอยู่ห่างจากบ้านนับร้อยนับพันกิโลเมตรนั่นเอง เช่นคนที่ไปทำงานตามเมืองใหญ่หรือนิคมอุตสาหกรรม เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี เป็นต้น
ข้อกังวลสุดท้ายคือในกรณีคนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนหรือคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่ถนัดเรื่องเทคโนโลยี จะใช้เงิน 10,000 บาทนี้อย่างไร เบื้องต้นมีคำตอบออกมาว่า จะสามารถใช้บัตรประชาชนร่วมกับ QR Code แทนได้ ถ้าใช้บัตรประชาชนแทนได้ ก็คงไม่น่ากังวลอะไร
ดังนั้นเราต้องรอดูกันต่อไปว่านโยบายแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาทนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใด และจะมีปัญหาอะไรในทางปฏิบัติหรือไม่ รวมถึงข้อกังวลต่าง ๆ จะได้รับการแก้ไขอย่างไร รวมถึงจะมีเงื่อนไขการใช้งานอะไรเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร