คำถาม ... การตายแบบไหนบ้างที่ต้องทำการชันสูตรพลิกศพ?
เฉลย ...
การชันสูตรพลิกศพเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการพิสูจน์หาสาเหตุของการตาย ซึ่งจะสามารถตอบปัญหา และไขข้อสงสัยจากการตายได้ โดยการชันสูตรพลิกศพนี้เป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติหรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย”
การตายที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
1. การตายผิดธรรมชาติ
ในทางกฎหมาย การตายผิดธรรมชาติ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ลักษณะ คือ
- การฆ่าตัวตาย
- การถูกผู้อื่นทำให้ตาย
- การถูกสัตว์ทำร้ายตาย
- การตายโดยอุบัติเหตุ
- การตายโดยยังไม่ปรากฏเหตุ
- ไม่สามารถระบุว่าผู้ตายเป็นใคร และการผ่าศพอาจช่วยในการระบุ
- ศพที่เป็นโครงกระดูก หรือศพที่ไหม้เกรียม
- การตายที่เกิดจากหรืออาจเกิดจากถูกผู้อื่นทำให้ตาย
- การตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
- การตายผิดธรรมชาติในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
- การตายในเด็กที่ไม่คาดคิดและไม่สามารถอธิบายได้
- การตายที่เกิดจากสารพิษ
- การตายที่เกี่ยวข้องกับการจราจร
- การตายที่เกิดจากการบาดเจ็บจากการทำงาน ไฟฟ้าดูด การจมน้ำโดยไม่มีผู้พบเห็น
- ไม่สามารถระบุ หรือสันนิษฐานสาเหตุการตายได้
- มีผู้ใดผู้หนึ่งสงสัยในสาเหตุการตายหรือพฤติการณ์การตาย หรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับการได้รับผลประโยชน์ของผู้ตาย
2. การตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน
การตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ได้แก่ การตายที่อยู่ในระหว่างควบคุมหรือขัง หรือ กักขัง หรือจำคุก หรือคุมตัวของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หรือ คำพิพากษา หรือตามคำสั่งของศาลแล้วแต่กรณี
สาเหตุที่การตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานต้องได้รับการชันสูตรก็เพื่อพิสูจน์ว่าการตายนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บของผู้ถูกควบคุมตัวเอง หรือถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายจนถึงแก่ความตาย หรือว่ามาจากสาเหตุอื่น
ใครบ้างที่ต้องร่วมกันชันสูตรพลิกศพ
1. พนักงานสอบสวนและตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน
เมื่อพนักงานสอบสวนรับแจ้งเหตุการเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ จะต้องแจ้งให้ผู้ที่ต้องเข้าร่วมชันสูตรพลิกศพทราบโดยเร็ว อันได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการ แพทย์ และญาติของผู้ตาย (ถ้าทำได้)
2. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่จะร่วมทำการชันสูตรพลิกศพ ได้แก่ ปลัดอำเภอเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ นายอำเภอ ปลัดจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด
3. แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะร่วมชันสูตรพลิกศพ ได้แก่ แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขวิธีการชันสูตรพลิกศพ
ประเภทของการชันสูตรพลิกศพ
การชันสูตรพลิกศพสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
1. การชันสูตรพลิกศพโดยไม่ต้องผ่าศพ
การชันสูตรแบบนี้ ถ้าสามารถดูเพศ อายุ เชื้อชาติ สิ่งของติดตัว และอื่น ๆ เพื่อพิจารณาว่าผู้ตายเป็นใคร สภาพศพหลังตายเปลี่ยนแปลงอย่างไร ประมาณเวลาการตาย ดูบาดแผลและลักษณะทางกายภาพเพื่อสันนิษฐานสาเหตุของการตาย และแพทย์สามารถลงความเห็นสาเหตุของการตายได้อย่างสิ้นสงสัย ก็จะจบกระบวนการชันสูตรตรงนี้ ไม่จำเป็นต้องมีการผ่าศพพิสูจน์
2. การชันสูตรพลิกศพโดยการผ่าศพ
หากการชันสูตรตามข้อ 1. ไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตอย่างสิ้นสงสัยได้ หรือมีเหตุจำเป็นเพื่อหาสาเหตุการตาย เช่น การผ่าศพตรวจดูด้วยตาเปล่า หรือการตัดเอาก้อนเนื้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือกระบวนการอื่น ๆ ทางนิติเวชวิทยา ศพดังกล่าวจะถูกนำไปยังโรงพยาบาลหรือสถาบันนิติเวชวิทยาเพื่อผ่าพิสูจน์สาเหตุการตายที่แท้จริงต่อไป